มันดูมีเหตุมีผลที่พอเรากินอาหารอิ่ม ร่างกายก็ควรจะรีบเอาพลังงานจากอาหารออกมาใช้ ส่งผลให้เรารู้สึกตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่า แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น พอหนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน อันนี้คงต้องโทษวิวัฒนาการของมนุษย์ บรรพบุรุษของเราจำเป็นจะต้องตื่นตัวและใช้พลังงานอย่างมากขณะล่าหรือหาอาหาร ดังนั้นหลังจากกินอาหารเสร็จ มนุษย์จึงต้องพักผ่อนนอนเอาแรงเพื่อชดเชยพลังงานที่สูญเสียไป
ระบบการทำงานในร่างกายของเรามีกระบวนการ ดังนี้
1. อาหารที่เรากินจะถูกย่อยโดยเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหาร โมเลกุลสารอาหาร เช่น กลูโคส ฯลฯ จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ลำไส้เล็ก
2. กลูโคสถูกลำเลียงผ่านกระแสเลือดไปยังสมอง กลูโคสจะยับยั้งการทำงานของเซลล์ประสาทที่หลั่งฮอร์โมนโอเรซิน (orexin) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้เราตื่นตัว ดังนั้นเราจึงรู้สึกง่วงเพลีย
3. ในที่สุด กลูโคสก็จะถูกส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ หรือถูกแปลงไปเก็บสะสมในเนื้อเยื่อไขมัน ฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนมีหน้าที่ควบคุมระดับของกลูโคสในกระแสเลือด